Developer life in digital agency company

Posted byHappio Team Posted onApril 20, 2019 Comments0
Developer life

วันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ก้าวแรกของการฝึกงานที่บริษัทเกี่ยวกับ Digital agency ตำแหน่ง Developer เป็นยังไงบ้าง และเล่าชีวิต Developer life กัน

 

Part 1: ก้าวแรก Developer life สู่ชีวิต Agency

วันแรกของการทำงานนั้น หลังจากที่ได้เข้ามาที่บริษัทก็จะมีที่โต๊ะทำงานประจำอยู่ ซึ่งจะอยู่ข้าง ๆ พี่เลี้ยงเลย พอถึงช่วง 10 โมงเช้า ทุกคนจะมายืนรวมตัวกันเพื่อ Stand-Up Meeting ขอย้ำว่าทุกคน ทุกแผนก พอเห็นพี่ ๆ เขา Stand-Up Meeting กันก็ถึงกับยืนเอ๋อกันเลยทีเดียว พี่ที่อยู่ในแผนกเดียวกันพอเห็นว่าเรายืนเอ๋อก็คงรู้ว่าเราไม่เข้าใจว่าทำอะไรกันอยู่ พี่เลยเข้ามาอธิบายว่าคืออะไร

สรุปว่ามันก็คือ การที่เราทุกคนมาพูดกันว่าเมื่อวานเราได้ทำอะไรไปบ้างและวันนี้เราจะทำอะไรบ้างหรือติดขัดอะไร ต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า ซึ่งโดยรวมแล้วทั้งหมดนี้ก็ใช้เวลาไม่นานประมาณ 5-10 นาที สรุปว่าวันแรกของ Stand-Up Meeting นั้นเราก็แนะนำตัวเองให้พี่ ๆ ในบริษัทว่ามาจากไหน มาทำอะไร อยู่ตำแหน่งอะไรก็เป็นอันเสร็จสิ้น

ความ Amazing ของประสบการณ์วันแรก

  วันแรกก็ไม่มีอะไรมาก ไปทำความรู้จักกับพี่ ๆ ว่าแต่ละคนว่าชื่ออะไรบ้าง, ทำงานตำแหน่งอะไร และในตำแหน่งนั้นมีหน้าที่ทำอะไร พอเรียบร้อยทุกอย่างแล้วก็ทำความคุ้นเคยกับที่ทำงานให้ชิน ซึ่งก็คือการคอยดูว่าพี่ทำงานยังไงกันบ้าง จนได้รู้มาว่าที่บริษัทนี้ทำงานกันเป็นรูปแบบ Agile การทำงานรูปแบบนี้ คือ การที่เราจะมาดูว่างานมีอะไรที่ต้องทำยังไงบ้าง ก็จะมีโปรแกรมบอร์ดออนไลน์ที่สามารถดูได้ว่างานทั้งหมดใน Backlog ที่เราสามารถหยิบมาทำได้มีอะไรบ้าง แล้วตอนนี้มีงานอะไรที่กำลังทำอยู่ เห็นแล้วก็รู้สึก เอ่อ ดูเป็นการแบ่งงานที่มีระบบดี ซึ่งมีหลายบอร์ดมาก บอร์ดแต่ละแผนก, บอร์ด Retrospective (ใครงงว่าคืออะไร เดี๋ยวมีอธิบายในส่วนหลัง) หรือ แม้กระทั่งบอร์ดเรื่องการกิน ซึ่งในบอร์ดการกินก็คืออธิบายว่าในซอยนี้หรือละแวกนี้มีของกินอะไรที่น่าสนใจบ้าง เมื่อถึงเวลาพักกลางวันเราจะได้ไม่ต้องคิดว่าจะกินอะไรดี เป็นอะไรที่ดีมากเลยเพราะเรามาฝึกงานวันแรกก็เลยไม่รู้ว่ามีอะไรกินบ้าง

เริ่มฝึกอย่างเข้มข้นจริงจัง

หลังจากที่เริ่มเคยชินกับที่บริษัทแล้วก็ได้มีการสอน Front-end, Back-end จากพี่ ๆ ที่แผนกโดยที่ Front-end จะได้ใช้เป็น ReactJS ส่วน Back-end เป็น Golang ซึ่งจะมี Assignment ให้เราทำ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีข้อสงสัย ก็สามารถสอบถามพี่ ๆ ได้เลย โดยที่เราจะพัฒนาสกิลของ ReactJS และ Golang ไปแบบรวดเร็วเนื่องจากมีพี่ที่คอยซัพพอร์ตอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา ซึ่งหลังจากที่ได้มีการเรียนรู้สกิลพอประมาณแล้ว

เราได้สังเกตเห็นว่างานที่พี่ ๆ เขาได้ทำกันนั้นมีตัว WordPress ด้วย เมื่อเราได้เห็นก็รู้สึกสนใจ อยากที่จะเรียนรู้ไว้หลาย ๆ อย่าง ก็เลยบอกพี่ ๆ ว่าอยากที่จะลองทำตัว WordPress พี่ ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็เลยได้ Assignment ใหม่โดยใช้ WordPress หลังจากที่ทำตัว Assignment เสร็จเรียบร้อยแล้ว สัปดาห์หลัง ๆ จะเริ่มมีงาน Test เข้ามาเยอะขึ้นทำให้เราต้องคอยช่วยพี่ ๆ ทำตัว ​Form สำหรับ Test Case ขึ้นมาเพื่อไว้สำหรับให้เรา Test ตาม Form Test Case ว่าผลลัพธ์มันจะออกมาตามที่คิดไว้

ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงบอร์ดของ Retrospective เผื่อมีบางคนไม่เข้าใจว่าคืออะไร จะมาอธิบายว่ามันคืออะไร Retrospective Meeting คือการประชุมรวมกันว่าภายใน Sprint (2 อาทิตย์) นี้มีปัญหาอะไรบ้างและทุกคนจะมารวมตัวเพื่อช่วยกันหา Solution หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยที่นี่ประชุมทุกคนทั้งบริษัทและทุกครั้งก่อนจะมีการประชุมเราจะมีบอร์ดของ Retrospective เพื่อให้ทุกคนเขียนการ์ดว่ามีปัญหาอะไรใน Sprint บ้างหรือใครจะเขียนเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นภายใน Sprint ก็ได้ สรุปแล้วมันคือการรวมตัวกันและพูดเกี่ยวกับ Sprint นี้ว่ามีเรื่องดี ไม่ดี มีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ทุกคนก็จะมา Discuss กันเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน เป็นการประชุมที่สนุกมาก ถ้ามองในอีกมุมมองนึงเป็นเหมือนการประชุมเพื่อระบายอารมณ์เพื่อช่วยลดปัญหาของแต่ละคนภายในบริษัท

Part 2: Project Intern ศึกใหญ่ที่ได้รับมอบหมาย

จะเล่าย้อนไปก่อนที่จะทำตัว Test Case นั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า “Project Intern” หรือก็คือโปรเจกต์ของเด็กฝึกงาน ซึ่งพี่ ๆ ที่บริษัทนั้นได้ปรึกษากันว่าจะให้เหล่าเด็กฝึกงานนั้นได้ทำงานร่วมกันเป็นทีมทำโปรเจกต์ตัวนึงซึ่งจะให้เด็ก ๆ ฝึกงานเป็นผู้เลือกงาน โดยที่เด็กฝึกงานจะมีทั้งหมด 5 คน ด้วยกัน ประกอบไปด้วย Development 2 คน, Design 2 คน และMarketing 1 คนด้วยกัน

หลังจากที่โหวตกันเลือกงานที่จะทำได้เรียบร้อยแล้ว เราก็ไปรับ Recap Brief หรือ งานที่จะต้องทำคร่าว ๆ ซึ่งเหล่าเด็กฝึกงานก็ได้มีการนัดประชุมกันเพื่อปรึกษากัน แต่พอได้ทำงานด้วยกันไปสักพักนึงก็เริ่มรู้สึกตัวกันแล้วว่าแต่ละการประชุมนั้น “ไม่ได้อะไรเลย”และ“ประชุมนานเกินไป”

ซึ่งที่เริ่มรู้สึกตัวนี่มาจากการที่พี่ ๆ เริ่มเห็นว่าแต่ละคนไม่ได้มีความเข้าใจที่ตรงกันเลยในตอนประชุม และในแต่ละครั้งที่มีการประชุมไม่ได้มีการตัดสินใจที่แน่นอนเนื่องจากไม่ได้มีหัวหน้ากลุ่ม พี่ ๆ ก็เลยแนะนำให้เด็กฝึกงานที่อยู่ฝ่าย Marketing เป็นหัวหน้ากลุ่ม เนื่องจากเด็กฝึกงานคนนั้นต้องฝึกสกิลการเข้าหาลูกค้า และ Recap Brief และพี่ ๆ ได้เสริมด้วยว่าในแต่ละครั้งที่มีการประชุมควรจะมีสิ่งที่เรียกว่า Agenda และ Timebox

สิ่งที่ต้องมีเพื่อให้งานออกมาดี

Agenda ก็คือสิ่งที่จะบอกว่าในการประชุมในแต่ละครั้งนั้นเราต้องประชุมอะไรกันบ้างและเราจะต้องได้อะไรจากการประชุมนั้น ๆ เพื่อให้เป็นแนวทางในการประชุมครั้งนั้น ๆ ส่วน Timebox ก็คือการกำหนดเวลาในการประชุมที่เหมาะสมและไม่ควรที่จะประชุมเกินเวลาของ Timebox ทำให้ในทุก ๆ ครั้งที่มีการประชุมนั้นจะไม่มีการประชุมที่เกินเวลาอีกต่อไป

หลังจากที่ได้คำแนะนำของพี่ ๆ เสร็จเรียบร้อยทำให้การทำงานของกลุ่มเด็กฝึกงานดีขึ้นอย่างมาก ทุกครั้งที่ประชุมเราก็จะมีการนำไอเดียของแต่ละคนมาเสนอและมีการแบ่งงานจากหัวหน้ากลุ่ม โดยที่ในแต่ละคนก็จะต้องคอยนำเสนอไอเดียต่าง ๆ ตามที่ได้รับหมอบหมายงานจากหัวหน้า เมื่อได้ไอเดียตามที่ต้องการแล้วก็มาถึงการประชุม

ในการประชุมนั้นก็จะเป็นการประชุมของไอเดียของแต่ละคนว่ามีไอเดียของโปรเจกต์นี้ยังไงบ้างแล้วก็ทำการนำเสนอกับพี่ของหัวหน้างานนี้และพี่ ๆ ทุกคนในบริษัทเพื่อที่จะได้ความเห็นที่หลากหลาย ในการประชุมครั้งนี้นั้นเป็นไปด้วยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะแต่ละคนยังไม่กล้าที่จะพูด กล้าที่จะออกความเห็นต่าง ๆ และในสไลด์การประชุมนั้นออกมายังไม่สมบูรณ์ ยังขาด Recap brief ของตัวงานอยู่ ทำให้พี่ ๆ ไม่รู้ว่าจริง ๆ งานนี้เด็กฝึกงานต้องทำอะไรบ้างก็เลยต้องนำกลับไปปรับปรุง

เมื่อไอเดียยังไปไม่สุด พลังของความร่วมมือจึงเกิดขึ้น

ในครั้งนี้เราไม่ได้กลับไปแก้ไขแบบมือเปล่า เราได้คอมเมนต์จากพี่ ๆ ต่าง ๆ มากมาย ในครั้งนี้พี่หัวหน้าโปรเจกต์ให้เราหาพี่ในบริษัทมาอย่างน้อย 1 คน เพื่อมาเป็น Mentor ของเรา จะได้คอยแนะนำ ชี้แนะได้ ซ้ำกันได้ไม่มีปัญหา เราก็เอาไอเดียของแต่ละคนไปปรึกษาพี่ Mentor ของเราว่าควรปรับปรุงหรือแก้ไขอย่างไรบ้าง หลังจากที่ได้นำไอเดียไปเพิ่มหลาย ๆ อย่างเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนสุดท้ายก็คือนำไอเดียที่มีนั้นไปให้พี่ฝั่ง Design เพื่อออกแบบไอเดียของเราให้มันเป็นรูป เป็นร่าง หรือก็คือ Mock up เพื่อไว้ใส่ในไฟล์พรีเซนต์เพื่อให้เวลาพรีเซนต์นั้นทุกคนจะได้เห็นภาพร่วมกันว่าไอเดียของคนนั้น ๆ เป็นอย่างไร เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่จะถึงวันพรีเซนต์เราก็ต้องไปฝึกพรีเซนต์มาให้เรียบร้อย

เส้นชัยสุดท้ายก็มาถึง วันพรีเซนต์นั่นเอง หลังจากได้รับคำแนะนำและคำชี้แนะมาเรียบร้อยก็ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ก็ได้เวลาเริ่มการประชุมสักที แต่ละคนก็อธิบายไอเดียของแต่ละคน โดยที่เริ่มจากการ Recap brief ว่างานนี้เหล่าเด็กฝึกงานทำอะไรบ้าง เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มีสิ่งที่แก้ไขนิด ๆ หน่อย ๆ เมื่อสมบูรณ์แล้วหัวหน้าโปรเจกต์ก็จะนำโปรเจกต์นี้ไปนำเสนอกับลูกค้าต่อ เป็นอันเสร็จสิ้นโปรเจกต์ของเหล่าเด็กฝึกงาน

ก้าวสุดท้ายแห่งการเป็น Happio

หลังจากที่ได้ผ่านสมรภูมิอันยาวนานก็ได้มาถึงจุดสิ้นสุดของการฝึกงานแล้ว ในการฝึกงานมานั้นทำให้ได้ความรู้หลาย ๆ อย่างเลยทีเดียว ซึ่งสิ่งสำคัญเลยก็คือการที่พี่ ๆ คอยซัพพอร์ตให้สามารถฝึกงานได้อย่างราบรื่น ได้คำแนะนำหลาย ๆ อย่างทำให้มีความคิดและแนวคิดในหลากหลายมุม

โดยที่พี่ ๆ จะไม่ได้บอกในสิ่งที่เราอยากรู้โดยตรงแต่จะสอนวิธีเพื่อให้หาคำตอบเหล่านั้นมาด้วยตัวเอง ทำให้เมื่อเราฝึกงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจะได้สกิลติดตัวเพื่อที่จะไปเอาชีวิตในการทำงานในอนาคตได้ด้วย

แถมยังได้มีการฝึกการทำงานเป็นทีมทำให้เราต้องฝึกการเข้าหาเพื่อนร่วมทีมและการทำงานเป็นทีม เพื่อให้เราสามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ โดยแบ่งงานกับเพื่อนร่วมทีมได้ดีขึ้น เป็นอันสิ้นสุดของการฝึกงานใน HAPPIO!!

ฝากติดตาม blog อื่นๆใน Happioteam ด้วยครับ
blog.happioteam.com

Facebook Comments
Category