Facebook Group 101 : สร้างกลุ่มยังไงให้คนอยากเข้า

Posted byHappio Team Posted onJanuary 13, 2019 Comments0
Facebook group

ก่อนจะไปถึงเรื่องนั้น อันดับแรกเรามาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Facebook Page และ Facebook Group กันก่อนดีกว่า

สมมติขึ้นมาว่าถ้าเป็น Facebook Page “สมาคมคนชอบของอร่อย” แอดมินจะทำหน้าที่ขับเคลื่อน Content ทั้งหมด และจุดประกายให้คนอื่นๆ ที่กำลังหาของกิน โดยเนื้อหาเกือบทั้งหมดจะมาจากแอดมินเพียงคนเดียว (อาจจะมีบ้างที่ทางบ้านส่งมาแต่คนที่โพสต์คือแอดมินอยู่ดี) ตัวอย่างโพสต์

แอดมิน: ร้านนี้เด็ดมาก ลองยัง?

นาย A: (แท็กเพื่อน) มึงๆ เค้าว่าอร่อย ไปลองกัน

นาย B: (แท็กเพื่อน) ว่างๆ ไปหารกัน

 

ทีนี้เรามาลองดูในส่วนที่เป็น Facebook Group กันบ้าง “สมาคมคนชอบของอร่อย”เหมือนกันเลย แต่ในที่นี้แอดมินจะไม่ได้เป็นคนสร้าง Content ตามลำพังละ จะเริ่มมีความเห็นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นต้นว่า

นาย A :  ร้านนี้อร่อยมากครับพิกัดอยู่ที่ XXX

คุณ B : หารกันมั้ยครับ เค้าว่าถูกกว่า

นาย A  : ได้เลยครับไว้เจอกัน

 

จะเห็นว่า Facebook page บทสนทนาจะอยู่เฉพาะในวงคนรู้จักของตัวเอง แทบไม่ได้เกิดการคุยข้ามไปหาคนที่ไม่รู้จักเลย ในขณะที่ Facebook Group มีความเป็นธรรมชาติมากกว่า เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยหลังจิตวิทยาที่ว่าด้วย ระยะห่างระหว่างบุคคล หรือ Personal Space ซึ่งแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้

1.ระยะส่วนตัว (Intimate distance) :

เริ่มจากระยะสัมผัส – 18 นิ้ว เป็นระยะที่ได้กลิ่นของลมหายใจ รู้สึก ได้ยิน และเห็นรายละเอียดของคนคนนั้น เป็นระยะของการแสดงความรัก ปลอบโยน การปกป้อง ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่แสดงในที่สาธารณะ

2.ระยะบุคคล (Personal distance) :

เริ่มจากระยะ 18 นิ้ว – 4 ฟุต เป็นระยะห่างของกลุ่มเพื่อนหรือคู่รักปกติ

3.ระยะสังคม (Social distance) :

เริ่มจาก 4 ฟุต – 12 ฟุต เป็นระยะที่ใช้ในการพบปะกันทางสังคม คบค้าสมาคม และการทำธุระต่อกัน

4.ระยะชุมชน (Public distance) :

เริ่มจากระยะมากว่า 12 ฟุต เป็นระยะของที่พักอาศัยของคนทั่วไป

ให้สังเกตในระยะ 4 ซึ่ง Facebook Page เป็นสถานที่ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้

ถึงแม้จะเป็นผู้ชื่นชอบอาหารเหมือนกัน แต่แอดมินเป็นคนโพสต์เพียงคนเดียว ทำให้ User รู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่ไม่รู้จัก เกิดเป็นระยะชุมชนขึ้นมา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ แอดมินก็คงจะเป็นแกนนำม็อบ และ User คนอื่นๆ ก็คือผู้เข้าร่วมที่มีหน้าที่ฟัง (หรืออาจจะกระซิบกระซาบกับคนรู้จักของตัวเอง) เท่านั้น  ส่วนเฟสบุ๊คกรุ๊ป ก็เหมือนกับระยะที่ 3 ถึงแม้จะเป็นเป็นสถานที่ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้เหมือนกับ Facebook Page ก็จริง แต่ตอนนี้ทุกคนสามารถเปิดประเด็นพูดคุยได้ และอย่างที่รู้กันว่าเมื่อคนที่ชื่นชอบอะไรเหมือนๆ กันมารวมตัวกันแค่ 2-3 คน บางทีก็หาเรื่องคุยกันได้เป็นวันๆ แล้ว //ตัดภาพมาที่แอดมินตัวจางๆ จากเมื่อก่อนที่เป็นแกนนำ ตอนนี้กลายเป็นแค่คนตั้งชมรมไปแล้ว

ด้วยรูปแบบของการสื่อสารที่เปิดกว้าง ทำให้ User เริ่มมีความเห็นเป็นของตัวเองกันมากขึ้น การมีอยู่ของเฟสบุ๊คกรุ๊ป จึงดูน่าสนใจขึ้นมาไม่น้อยเลย

 

แบบนี้ตั้งกลุ่มก็น่าจะง่ายกว่าเพจสิ?

ไม่เชิง มันจะง่ายมากถ้ามี Connection หรือคนที่เห็นด้วยกับเราอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครสร้างกลุ่มขึ้น กลับกันถ้าไม่มี Connection การจะเพิ่มประชากรในกลุ่มได้เป็นเรื่องยากกว่า Facebook Page มาก เพราะมันใช้เงินซื้อไม่ได้!! ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องมีก่อนสร้าง Facebook Group คือ Connection

Connection ออนไลน์สร้างยังไง?

ถึงแม้ว่านายซัคเคอร์เบิร์กจะพูดดิบดีว่า “จะเชื่อมต่อคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน” แต่ความจริงไม่ได้สวยหรูแบบนั้น พอสังคมใหญ่ขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น พอปัญหามากขึ้นคนก็เริ่มระวังตัวมากขึ้น และวิธีแก้ในที่นี้คือทำตัวให้น่าเชื่อถือเข้าไว้ การทำตัวให้น่าเชื่อถือในที่นี้ไม่ใช่การใส่สูท ผูกไทด์ หน้าตาสะอาดสะอ้าน มันคือการที่เรา “รู้ลึกรู้จริง” ในสิ่งที่เราต้องการจะบอก “ยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างแน่วแน่” และต้องมั่นใจว่า “เรื่องนี้ต้องมีคนคิดเหมือนกูอยู่แน่ๆ” และอย่างที่เคยเปรียบไปก่อนหน้า มันคือแกนนำม็อบดีๆ นี่เอง พอจะเห็นภาพชัดขึ้นมั้ย (ฮา)
ตัวอย่างแนวคิด

“สมาคมคนชอบของอร่อย” ที่ไหนมีของอร่อยที่นั่นต้องมีเรา อ้วนไม่กลัว…กลัวไม่ได้แดก!!

ทุกคนเห็นตรงกันว่า Facebook group นี้มีเฉพาะพวกคลั่งการกินอย่างเดียวนะ เอ็งอย่ามาดึงดราม่าสายเฮลตี้ในนี้เด็ดขาด

 

หลังจากที่ได้แนวคิดอันโคตรเข้มแข็งแล้วอันดับต่อไปคือการเผยแผ่ศาสนา การเลือกคนเข้ากลุ่มในช่วงแรกสำคัญมาก เพราะมันแทบจะตัดสินทิศทางของกลุ่มทั้งหมดได้เลยทีเดียว ดังนั้นข้อแนะนำสำหรับช่วงนี้คือ “ชวนทีละคน” โดยอาจจะเริ่มกับคนใกล้ตัวที่เห็นด้วยกับเราก่อน …เริ่มเห็นความสำคัญของ Connection ขึ้นมาบ้างแล้วล่ะสิ

 

//ภาพตัดมาอีกทีตอนมีสมาชิกได้ประมาณ 10 กว่าคน

เนื่องจากกลุ่มยังเล็ก ความสัมพันธ์จึงต้องเจ้มจ้นพอที่จะทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน หากในช่วงนี้กลุ่มยังเงียบๆ เพราะคนยังเคอะๆ เขินๆ เราลองหากิจกรรมให้คนในกลุ่มเริ่มสนิทกันมากขึ้นเป็นต้นว่า ไหนออกมาแนะนำตัวกันหน่อยว่าอะไรอร่อยที่สุดตั้งแต่กินมา หรือเปิดโหวตร้านโคตรอร่อยแล้วนัดเจอกัน

พอเริ่มมีการพบหน้ากัน มีรูปถ่ายมีหลักฐาน ก็ถึงเวลา “สร้างความน่าเชื่อถือในวงกว้าง” อัพโหลดสิครับรออะไร อาจจะเริ่มจาก Facebook ส่วนตัว บอกความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนี้ หรือจะเลือกฝากร้านโดยการไปโพสต์ในกลุ่มอื่นแบบเนียนๆ ก็ยังได้ ความสำคัญในช่วงนี้คือ “ทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นเยอะที่สุด” ทำขั้นตอนนี้วนไป ถ้าแนวคิดของเราแข็งแรงพอ เผลอแป๊บเดียวคนมากันแน่นชัวร์

 

คนเยอะชักคุมลำบากต้องทำไง?

อันดับแรกคือ “สร้างกฎหรือข้อตกลงการอยู่ร่วมกัน” ขึ้นมา หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษ บลาๆ ก็ว่าไปวิธีนี้เรียบง่ายและชัดเจนที่สุด อันดับต่อมาคือ “สร้างตัวแทนของเราซะ” เชื่อว่ากลุ่มจะใหญ่ขนาดนี้ได้ต้องมีแนวคิดที่ชัดเจนและเหล่าสาวกเดนตายอยู่ในกลุ่มของเราแน่ๆ เลือกมา 2-3 คน แล้วมอบอำนาจให้พวกเขาช่วยสิ

ตอนต่อไปจะพูดถึงการขายของในกลุ่ม และโอกาสของแบรนด์ในการสร้างกลุ่ม โปรดรอติดตามมมม

ฝากติดตาม blog อื่นๆใน Happioteam ด้วยครับ
blog.happioteam.com

Facebook Comments
Category