BiketoWork สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ จากการปั่นจักรยานไปทำงาน 66วัน

Posted byNatee Jarayabhand Posted onJuly 2, 2019 Comments0
BiketoWork

BiketoWork สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ จากการปั่นจักรยานไปทำงาน 66วัน
#เปลี่ยนตัวเองก่อนเปลี่ยนโลก #66dayschallenge

หลังจากที่ผมได้ทดลองนั่งสมาธิไปแล้ว 66 วัน ผมก็ตัดสินใจที่จะทดลองปั่นจักรยานไปทำงาน 66 วัน เพื่อที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ และสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้กับเพื่อนๆที่ อาจจะอยากที่จะลองปั่นจักรยานไปทำงานดูบ้าง มา BiketoWork กัน

ถ้าปั่นจาก MRT ผมจะใส่เสื้อเชิร์ทได้ ปั่นมาช้าๆ เหงื่อจะได้ไม่ออก #Biketowork

 

3 สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการปั่นจักรยานมาทำงาน 66 วัน

1. การปั่นจักรยานเป็นอะไรที่เสี่ยงตายมากๆ เสี้ยววินาทีที่คุณพลาด คุณอาจจะตายได้ง่ายๆ
2. ควันพิษจากรถ มันทำให้เราคลื้นไส้ และปวดหัวมาก คนที่ขับรถไม่มีทางเข้าใจได้ ถ้าไม่มาปั่นเอง
3. ที่อาบน้ำคือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผมปั่นจักรยานมาทำงานได้อย่างมีความสุข

โต๊ะทำเงิน! เอ้ยโต๊ะทำงานผม!  #biketowork
#BiketoWork ตอนนี้ผมใช้หน้ากากกันฝุ่น Totobobo อยู่ เพราะมันตัดให้ครอบเฉพาะปากได้ >> เวลาใช้คือหายใจเข้าทางปาก แล้วออกทางจมูก >> มันจะทำให้ด้านในไม่ชื้นเกิน และเราได้ออกซิเจนที่เพียงพอต่อการปั่นจักรยาน

จากประเด็นด้านบน ผมจึงพยายามสรุปเทคนิคการปั่นจักรยานไปทำงานให้เพื่อนๆ และน้องๆ ที่สนใจจะปั่นไปทำงาน หรือปั่นไปเรียน ได้นำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้กัน

 

10 เทคนิคการปั่นไปทำงาน #Biketowork ที่ผมอยากแบ่งปัน

1. ลองถามตัวเองก่อนว่าจะปั่นเพื่ออะไร
2. เจริญสติให้เตรียพร้อมกับการตายเสมอ พิจารณความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หาทางป้องกันให้ดีที่สุด เสร็จแล้วจึงปล่อยวาง
3. เรียนรู้เทคนิคการปั่นให้ปลอดภัยในเชิงทฤษฎี
4. ทดลองปั่นไปทำงานกับเพื่อนที่มีประสบการณ์ ในวันหยุดก่อน
5. ลองวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่างๆบนเส้นทางของคุณ และหาทางลดความเสี่ยง

บางทีมีประชุมกับลูกค้าผมก็เอาจักรยานไป #Biketowork

6. วางแผนเรื่องการอาบน้ำ การตากผ้า และเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ ให้สะอาดเรียบร้อย
7. วิธีการเลือกซื้อจักรยาน และอุปกรณ์ที่จำเป็น
8. พัฒนาการปั่นของตนเองให้ปลอดภัยขึ้นเรื่อยๆ
9. หาความสุขระหว่างทาง
10. พลิกปัญหาสังคมให้เป็นโอกาส ทำตัวเป็น Active Citizen

ยืนเอียงเลยเพราะจริงๆแล้วจักรยานแอบหนักเหมือนกัน #BiketoWork

 

1. ลองถามตัวเองก่อนว่าจะปั่นเพื่ออะไร?

สำหรับเพื่อนๆที่อยากจะประหยัด หรือกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว การปั่นจักรยานไปทำงาน อาจจะทำให้เพื่อนๆ ประหยัดเงินได้ปีละกว่า 48,000 บาทเลยทีเดียวจาก

  1.  ประหยัดค่าเดินทางได้ปีละประมาณ 24,000 บาท (2000 ต่อเดือน)
  2. เพื่อนๆจะประหยัดค่า Fitness ได้ปีละ 24,000 บาท (2,000 ต่อเดือน)

นอกจากนี้การปั่นจักรยานยังอาจจะสร้างประโยชน์อื่นๆ ที่ประเมินเป็นเงินไม่ได้อีก เช่น

  1. ค่ารักษาพยาบาล กับโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับเพื่อนๆในอนาคต
  2. ประหยัดเวลาที่คุณต้องเสียจากการเดินทาง หรือการออกกำลังกาย
  3. ไม่ต้องอารมณ์เสียเวลารถติด
  4. ประหยัดค่าที่อยู่ จากการที่ไม่ต้องอยู่ใกล้รถไฟฟ้า ซึ่งมาจากการประหยัดค่าเช่า หรือเลือกซื้อคอนโด หรือบ้านที่ไม่ต้องติดรถไฟฟ้าขนาดนั้น
คนที่บ้าจักรยาน อาจจะเอาจักรยานขึ้นห้องนอนได้ #BiketoWork

แต่สำหรับผม ผมเลือกที่จะปั่นจักรยานไปทำงานเพื่อที่ผมจะได้ออกกำลังกายทุกๆวันไปโดยอัตโนมัติ และอยากที่จะมีความสุขกับการเดินทางในทุกๆวัน หลายๆคนกำลังเก็บเงินซื้อคอนโดใกล้รถไฟฟ้า เพื่อหวังว่าจะได้มีชีวิตที่ดี และสะดวกสบายขึ้น แต่หลายๆครั้ง ในความเป็นจริง การเดินทางไปทำงานด้วยรถไฟฟ้า ไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่คิด ทั้งต้องยืนแบบเมื่อยๆ ต้องแย่งกันเข้า ต้องเบียดกัน หายใจรดกัน ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือ คุณต้องลองถามตัวคุณเองว่าคุณอยากที่จะปั่นเพราะว่าอะไร?

2. เจริญสติให้เตรียพร้อมกับการตายเสมอ พิจารณความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หาทางป้องกันให้ดีที่สุด เสร็จแล้วจึงปล่อยวาง!

ไม่ว่าคุณจะเดินทางทางใดล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ใน 1 ปี มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนมากกว่า 20,000 คนต่อปี
แต่การขี่จักรยานนั้นเป็นการเดินทางที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ด้วยความที่จักรยานนั้นมีล้อที่เล็ก และแคบ เวลาเจอถนนที่เป็นหลุม เป็นบ่อ หรือท่อ สามารถลื่นล้มได้ง่ายกว่า เวลาเร่งความเร็ว จะเร่งได้ช้า และสามารถเสียการทรงตัวระหว่างการเร่งความเร็วได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ยังถูกมองเห็นได้ยากกว่า ด้วยขนาดรถที่เล็ก และคุณภาพของไฟ ที่ใช้กับจักรยาน เราจึงแนะนำให้คุณ เตรียมตัวกับเหตุการที่เลวร้ายที่สุดไว้ก่อน…
2.1 ปรึกษาคนที่คุณรักก่อน และทำพินัยกรรมเอาไว้
2.2 ทำประกันชีวิต
2.3 เขียนจดหมายลาตายเอาไว้ก่อน
2.4 ลองจินตนาการถึงท่าต่างๆ ที่คุณจะตายบนจักรยานได้ พยายามหาทางป้องกัน และรักษาสติ และจิตใจไว้ อย่าไปโกรธคนอื่น ถ้าตนเองจะต้องตายด้วยอุบัติเหตุ ตอนตัวเองขี่จักรยาน ไม่มีใครที่อยากให้เกิดอุบัติเหตุ

ผมเชื่อในทั้งวิทยาศาสตร์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ #BiketoWork

3. เรียนรู้เทคนิคการปั่นให้ปลอดภัยในเชิงทฤษฎี

1. รักษาสติให้ต่อเนื่อง และมีสมาธิกับการขี่จักรยานให้ถึงจุดหมายโดยไม่ตาย ห้ามเหม่อ หรือทำอย่างอื่นไปด้วย ถ้าจะคุยโทรศัพท์ หรือเชทให้จอดข้างทาง
2. ศึกษาดูว่า คุณอาจจะตายท่าไหนได้บ้าง และย้อนภาพกลับว่าคุณจะป้องกันเหตุการณ์นั้นได้อย่างไร
3. ตรวจสอบจักรยานว่าใช้งานได้ปกติก่อนออกตัวเสมอ โดยเฉพาะเบรค และลมยาง
4. เตรียมอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยให้พร้อม เช่นไฟหน้า ไฟหลัง หมวกกันน็อค กระจกมองหลัง กระดิ่ง เป็นต้น
5. ทำตัวให้ถูกมองเห็นได้ง่ายๆ เช่นใส่เสื้อ ที่มีสีสดใส เปิดไฟ ทั้งกลางวัน และกลางคืน
6. ก่อนเปลี่ยนเลนส์หรือ เลี้ยวให้ มองกระจกหลัง ส่งสัญญานมือ ชำเลืองมอง ก่อนที่จะค่อยๆ เบี่ยงรถ หรือเลี้ยวช้าๆ การถูกบีบแตรเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องตกใจ ให้เข้าใจว่าเขารีบ และจักรยานมันช้ากว่ารถมากๆ
7. ขับเลนซ้าย และทำตามกฏจราจรอย่างรัดกุม
8. อย่าแซงซ้าย ถ้าไม่มั่นว่าปลอดภัยจริงๆ เพราะคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าจะแซงขวา
9. เวลาจะเลี้ยวขวา ในถนนที่มีหลายเลนส์ ให้ขี่ไปหยุดที่แยก และเดินลงจูงจักรยาน พร้อมข้ามถนนไปกับคนเดิน
10. ระวังการเบรคกระทันหัน เพราะคันข้างหลังอาจจะสอยก้นคุณได้ ใช้ไฟท้ายที่มีสัญญานเบรค (ไฟจะค้าง และสว่างขึ้นเมื่อเราเบรค)

จะสังเกตุว่าเวลาขี่ในเมือง มือทั้งสองของผมจะอยู่ในตำแหน่งที่เบรคได้ ตลอดเวลา #Biketowork

11. อย่ากดเบรคหน้าแรงเกินไป เพราะจะทำให้หัวทิ่ม ฝึกเบรคหน้าหลังพร้อมกันให้เป็นนิสัย
12. ระวังฝาท่อน้ำที่ทำจากเหล็ก รางรถไฟ หลุ่มบ่อ บนท้องถนน ที่อาจจะทำให้คุณลื่นได้ โดยเฉพาะตอนฝนตก และตอนกลางคืน
13. ระวังการขับใกล้รถเมล์ รถบรรทุก เพราะพี่เขามีจุดบอดเยอะ
14. ต้องระวังเวลาที่รถใหญ่เลี้ยว เพราะการเลี้ยวของรถใหญ่อาจจะเป็นการตีวง ก่อนที่จะเลี้ยวมาอีกด้าน เช่นเราเห็นว่าเขาจะเลี้ยวขวา เราจึงแซงเขาไปทางด้านซ้าย แต่เขากลับเลี้ยวซ้าย แล้วเบียดทับรถเรา (นี่คือสาเหตุที่คนขี่จักรยานในอังกฤษตายมากที่สุด)
15. เวลาฝนตกควรจะงดปั่น หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ให้ปั่นช้าๆ และงดการขึ้นสะพานที่มีรถเด็ดขาด เพราะน้ำบนสะพานจะไหลเชี่ยว และบริเวณคอสะพานจะมีน้ำขังมาก ในขณะที่รถจะวิ่งเร็ว รถมีโอกาสลื่น หรือแรงของน้ำที่กระเด็นอาจจะทำให้เราล้มได้ง่ายๆ
16. หากจะดูแผนที่บนมือถือ ให้เลือกที่ติดที่แน่นหนา เพราะการที่มือถือคุณร่วง อาจจะทำให้คุณเสียสมาธิ จนเกิดอุบัติเหตุได้ และควรศึกษาเส้นทางก่อนเดินทางเสมอ
17. ระวังควันดำจากรถเมล์ ถ้าเจอ ให้ทิ้งระยะห่าง แซงเมื่อมั่นใจว่าปลอดภัยจริงๆเท่านั้น
18. หากเจอสุนัขวิ่งไล่กัด ให้รักษาสติ แล้วขี่ต่อไปด้วยความนิ่ง ไม่ต้องแสดงความกลัวออกมา ไม่ต้องสบตาสุนัข และไม่ต้องเริ่งความเร็วหนี เพราะยังไงสุนัขมันวิ่งเร็วกว่าแน่นอน หากคุณโดนกัด แล้วล้มลง ควรนำจักรยานมากันสุนัข และปกป้องอวัยวะสำคัญของคุณ เช่นหน้า คอ อก เป็นต้น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ลองอ่านบทความของซีซ่าดู https://www.cesarsway.com/when-dogs-attack/

ในวันที่ฝนตกไม่ควรขี่จักรยานขึ้นสะพานใหญ่ ให้ใช้สะพานลอยคนเดินแทน #BiketoWork

4. ฝึกแบบปฏิบัติโดยการปั่นกับเพื่อน หรือปั่นเป็นกลุ่มก่อน

ทดลองปั่นในเส้นทางทำงาน กับเพื่อนที่มีประสบการณ์ ในวันหยุดก่อน นี่คือตัวอย่างกลุ่มที่คุณสามารถปรึกษา หรือหาเพื่อนปั่นจักรยานในกทม.ได้ เช่น

  1. กลุ่ม BiketoworkBuddy หาเพื่อนปั่น https://www.facebook.com/groups/1187694548005125/
  2. กลุ่ม Brompton Society Thailand https://www.facebook.com/groups/BromptonSocietyThailand/
  3. ปั่นเมือง – Punmuang Cyclelized City https://www.facebook.com/punmuang/
  4. กลุ่มชมรมปั่นจักรยานประชาชื่น https://www.facebook.com/groups/prachachuen.bike.club
  5. BiketoWorkBkk https://www.facebook.com/BikeToWorkBkk/
ปั่นกับเพื่อนสนุกกว่า #BiketoWork

5. ลองวิเคราะห์จุดเสี่ยงต่างๆบนเส้นทางของคุณ และหาทางลดความเสี่ยง

เส้นทางในการเดินทางไปทำงานของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ฉะนั้นคุณควรจะวิเคราะห์ความเสี่ยงบนเส้นทางของคุณ และออกแบบวิธีในการลดความเสี่ยงของคุณ สำหรับผมเอง ผมปั่นเส้นทางบางซื่อ-สีลม ขาไปผมจะมีจุดเสี่ยง 3 จุด และขากลับมีจุดเสี่ยง 3 จุด ซึ่งจุดเสี่ยงของผมประกอบด้วย
1. บางช่วงมีท่อระบายน้ำเหล็กขนาดใหญ่ที่อาจจะทำให้ลื่นได้ง่าย
2. บางช่วงตั้องปั่นข้ามทางรถไฟ ที่อาจจะลื่นจากรางเหล็กได้
3. บางช่วงมีหมาวิ่งไล่กัด
4. บางช่วงเป็นถนน 3 เลนส์ แล้วเราต้องเลี้ยวขวา จากที่ต้องขี่ชิดซ้ายมา
5. บางช่วงถนนแคบมากๆ ทำให้มอเตอร์ไซค์ อาจจะขับมาเกี่ยวแฮนด์เราได้
6. บางช่วงเราต้องเลี้ยวแบบเถื่อนๆ
ซึ่งในแต่ละกรณี เราจะต้องฝึกคิดแก้ปัญหาเอง ไม่มีใครที่จะรู้ดีเท่าตัวคุณเองที่ขับบนเส้นทางนั้นเป็นประจำ และเราต้องเตรียมตัวกับสิ่งที่ไม่คาดคิดเสมอ (อย่าประมาท กับเส้นทางที่คุณเชี่ยวชาญ)

ลองสังเกตุจุดเสี่ยงของตัวเอง #Biketowork ก่อนจะเลี่ยวซ้าย ควรให้สัญญามือล่วงหน้า และหันไปมองด้านหลังซ้าย เพื่อให้มั่นใจว่า เลี้ยวได้จริงๆ

 

6. วางแผนเรื่องการอาบน้ำ การตากผ้า และเสื้อผ้าที่จะใส่

คุณควรจะต้องหาที่อาบน้ำใกล้ ที่ทำงาน ลองปรึกษา HR ยาม แม่บ้าน ร้านข้าว รานกาแฟ Hostel แถวๆนั้นดู หรือลองเข้าเวบ Warm Showers ดู ถ้าไม่ได้จริงๆก็ลองโพสถามเพื่อนๆใน BiketoWork Buddy ก็ได้
การตากผ้า จะช่วยให้เสื้อผ้า และผ้าเช็ดตัวของคุณไม่เหม็นหืน ลองปรึกษาแม่บ้าน HR หรือหาร้านซักรีด แถวๆนั้นดุ สำหรับผม ผมตากเอาที่ Office แล้วตอนเย็นผมก็ใส่ชุดเดิม 555 การตากผ้าให้แห้ง ทำให้เสื้อผ้าไม่เหม็นจริงๆนะ
สำหรับเสื้อผ้า ผมจะออกแบบให้ผมแต่งตัวเรียบร้อย โดยไม่ต้องใส่เสื้อ Shirt คุณอาจจะหาเสื้อสูท มาทิ้งไว้ที่ Office ตัวนึง ก็ได้ ผมโชคดีที่ Office ผมไม่ต้องใส่เสื้อ Shirt หรือถ้าผมต้องใส่เสื้อ Shirt ผมก็จะใส่มาจากบ้าน แล้วงดปั่นช่วงเช้า แต่เอาเสื้อมาเปลี่ยนเพื่อปั่นขากลับ (อย่างน้อยผมจะได้ปั่นวันละ 1 เที่ยว)
จริงๆ เสื้อและกางเกงจักรยานมีข้อดีหลายอย่างเช่น ไม่อมน้ำ แห้งเร็ว ระบายอากาศได้ดี เบา และสบาย (มีฟองน้ำรองก้น)

ที่อาบน้ำคือสวรรค์ของนักปั่น #BiketoWork โชคดีที่ เจ้าของ Mile Map Hostel เขาให้ผมมาอาบได้ฟรีๆ Office เราติดกับที่นี่

 

7. เลือกซื้อจักรยาน และอุปกรณ์ที่จำเป็น

ประเด็นแรกที่คุณอาจจะพิจารณาคือจะเอา จักรยานแบบพับได้ หรือไม่ต้องพับได้ ซึ่งข้อดีของจักยานที่พับได้คือ มีความยืดหยุ่น เอาขึ้นรถไฟฟ้า หรือรถเพื่อน หรือรถ Taxi ได้ง่าย เอาเข้าอาคารได้ ส่วนจักรยานปกติก็จะขี่ได้ดีกว่า นุ่มกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า
ผมเคยใช้ทั้งเสือภูเขา และจักรยานพับ ส่วนตัวตอนนี้ใช้จักรยานพับทุกวันเลย เพราะมันตอบโจทย์ผมมากกว่า

บางทีก็ต้องมีการเชคสภาพ และจูนบ้าง #BiketoWork

เทคนิคการเลือกซื้อจักรยานคือคุณควรเลือกซื้อจักรยานที่มีคนเคยขี่เกิน 1,000 กม. แล้วประทับใจในการใช้งาน เพราะนี่ได้พิสูจน์แล้ว ว่าจักรยานคันนั้นใช้ได้ดีจริงๆ ถ้าอยากประหยัดก็หาซื้อ Second Hand เอา แต่ที่สำคัญคือคุณควรทำ BikeFit แบบง่ายๆ และทดลองขี่ก่อนตัดสินใจซื้อ

ติดกล้องไว้จับรถที่ปล่อยควันดำ ติดมือถือเพื่อดูแผนที่ได้ และมีกระเป๋า เพื่อใส่ของที่จำเป็น โดยที่เราไม่ต้องแบกบนหลัง #Biketowork

ส่วนอุปกรณ์ที่จำเป็นนั้นได้แก่
1. หมวกกันน็อค
2. แว่นกันแดด
3. ไฟหน้า
4. ไฟหลัง
5. กระจกหลัง
6. กระเป๋าใส่ของไปทำงาน
7. ผ้าเช็ดตัว กระเป๋า สบู่ แชมพู

ผมชอบใช้ไฟท้ายแบบ Kinetics คือมีสัญญานตอนรถเบรค #BiketoWork

อุปกรณ์ที่ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น แต่ผมชอบใช้
1. หน้ากากกันฝุ่น
2. เสื้อ และกางเกงจักรยาน
3. กล้อง และที่ติดมือถือ
4. เสื้อกันฝน และที่กันฝนของกระเป๋า
5. กระติกน้ำ

ของที่จำเป็นสำหรับผมที่ผมเอาไปทำงานทุกวัน #Biketowork

8. พัฒนาการปั่นของตนเองให้ปลอดภัยขึ้นเรื่อยๆ

วัดดูง่ายๆ ว่าการขับขี่ในแต่ละวันของคุณ มีความหวาดเสียว ทำผิดกฏจราจร หรือโดนบีบแตรวันละกี่ครั้ง เช่น…
วันแรก หวาดเสียว ทำผิดกฏจราจร หรือโดนบีบแตร 5 ครั้ง
วันที่สอง หวาดเสียว ทำผิดกฏจราจร หรือโดนบีบแตร 3 ครั้ง
วันที่สาม หวาดเสียว ทำผิดกฏจราจร หรือโดนบีบแตร 1 ครั้ง
วันที่สี่ หวาดเสียว ทำผิดกฏจราจร หรือโดนบีบแตร 0 ครั้งเป็นต้น
แล้วจึงนำข้อผิดพลาด มาทบทวน ป้องกัน แบ่งปัน และปรับปรุงให้ค่อยๆดีขึ้นสำหรับผมตอนนี้ จะมีความหวาดเสียวสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ซึ่งผมต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้ลดความหวาดเสียวให้น้อยกว่านี้อีก

อย่าวางไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง โดยเฉพาะใจคนขับรถในกทม.  #BiketoWork

9. การหาความสุขระหว่างทาง

คุณอาจจะแวะทานขนม แวะซื้อของในที่ๆ รถติด หรือหาที่จอดรถยากได้ง่าย การปั่นจักรยานจะทำให้คุณได้เจออะไรใหม่ๆ และอยากที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆในเมืองที่คุณอยู่มากขึ้น

แวะร้านชิคๆคูลๆได้ #biketowork

 

#BiketoWork บางทีก็ไปทำงานนอกสถานที่บ้าง (เชียงใหม่)

ส่วนการไปต่อกับเพื่อน ถ้าหากคุณเลือกใช้จักรยานพับแบบผม ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่พับจักรยานแล้วเอาขึ้รถติดไปกับตัวคุณ ผมเองยังเคยทั้งเอาจักรยานไปร้านอาหาร ไปผับ ไปดูหนัง ไปงานแต่ง ไปงานศพ แค่ว่าคุณอาจจะต้องฝึกยกจักรยานในท่าที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ปวดหลัง

เอาเข้าห้าง เข้ารถไฟฟ้า ไปดูหนัง ไปงานศพ ไปงานแต่งได้ #biketowork

 

10. พลิกปัญหาให้เป็นโอกาส ทำตัวเป็น Active Citizen

แน่นอนว่าประเทศไทย และกทม. เป็นเมืองที่ไม่เป็นมิตรกับคนปั่นจักรยาน แต่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ คุณอาจจะช่วยรายงานถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ใน App “ปั่นเมือง” หรือช่วยถ่ายรูปรถที่มีควันเสีย แล้วใช้ HashTag #FightForCleanAir หรือช่วยผลักดัน การออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับคนขี่จักรยาน ก็ได้ ตามที่คุณถนัด

หวังว่า เด็กๆในอนาคต คงได้หายใจอากาศที่ดีกว่านี้ #biketowork

คนที่ขี่จักรยานไปทำงานจะเห็นค่ากับอากาศที่บริสุทธิ์มากๆ เพราะเวลาขี่จักรยานเราต้องใช้ออกซิเจนมากกว่าปกติถึงกว่า 10 เท่าตัว ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่อง อากาศเป็นพิษ และสนับสนุนเรื่องที่อาบน้ำให้คนทำงานได้ ผมเชื่อว่า คนไทยจะมีความสุขในการเดินทางมากขึ้น และจะสุขภาพดีที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ความเครียดลดลง มีเวลามากขึ้น มีเงินออมมากขึ้น ตรงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นความพอเพียงในชีวิตในเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรม

_____________________________________________

เอาเข้า Grab เข้ารถเพื่อนได้ ถ้าขี้เกียจปั่น หรืออยากไปเที่ยวต่อ #biketowork

    สุดท้ายนี้ ผมคงปั่นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีแรง เพราะการปั่นจักรยานไปทำงานทำให้ผมพบกับ “ความสุขในการเดินทางในทุกๆวัน” ใครสงสัย หรืออยากลอง ก็เริ่มเลยครับ ใครลองแล้วได้ประสบการณ์อะไร ก็มาแบ่งปันคุยกันก็ได้ หรือหากมีใครอยากอยากจะแลกเปลี่ยนมุมมอง หรือมี่ข้อสงสัยอะไรก็ Comment มาได้นะครับ   ขอขอบคุณเพื่อนๆ ในกลุ่ม BiketoWork Buddy ที่ช่วยแนะนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการขี่จักรยานให้ปลอดภัย บทความต่อไปที่ผมตั้งใจที่จะเขียน น่าจะอยู่ในหัวข้อ “กินเพื่อสิ่งที่ดีกว่า” EatForTheBetter ซึ่งผมจะพยายามเลือกกินในลักษณะที่เป็นผลดีกับตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นเวลา 66 วัน

สุดท้ายมันก็แค่เป็นความสุขในการเดินทางในทุกๆวัน #biketowork

จากน้ำ (นที จารยะพันธุ์), CEO of Happio

#เปลี่ยนตัวเองก่อนเปลี่ยนโลก จริงๆเรื่องราวมีอีกมากมายติดตามได้ที่นี่ >>> https://www.instagram.com/namcud36

_____________________________________________

 

Facebook Comments
Category