ประสบความสำเร็จด้วย แรงงานพม่า แรงงานที่เป็นมากกว่าแรงงาน
กว่า 20 ปีที่ครอบครัวของนางสาว A (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจกลุ่มแปรรูปไม้ยางพารา ที่คลุกคลีกับชาวพม่าโดยตรง เธอได้เล่าถึงที่มาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่พ่อของเธอได้รู้จักและรับชาวพม่าคนหนึ่งชื่อ “นายอ่าง” เข้ามาทำงานในโรงงานไม้แปรรูป นายอ่างเป็นชาวพม่า เกิดที่พะโคและเข้ามาเป็น แรงงานพม่า ทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งในปัจจุบันยังคงทำงานให้กับครอบครัวของเธอในฐานะหัวหน้าแรงงาน
ถึงอย่างนั้นกว่านายอ่างมาอยู่ในระดับนี้ได้ ก็ต้องผ่านการพิสูจน์ทั้งด้านความสามารถหลายต่อหลายครั้งจากนายจ้าง จนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ทั้งยังคอยเป็นหูเป็นตาให้ธุรกิจ เสมือนญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสำหรับเธอ ส่วนหนึ่งเพราะนายอ่างอยู่เคียงข้างพ่อของเธอตั้งแต่โรงงานยังมีโต๊ะเลื่อยไม้เพียงแค่ 4 ตัว (ปัจจุบันมากกว่า 100 ตัว) และคอยสนับสนุนพ่อของเธอมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้หนีไปไหนเหมือนแรงงานพม่าคนอื่นๆ และด้วยประสบการณ์ที่สูง ทำให้นายอ่างกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญงาน ทั้งกระบวนการผลิตสินค้า ควบคุมแรงงานได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่ารู้ทุกซอกทุกมุมของโรงงาน
นอกจากนี้ นายอ่างยังถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยแนะนำแรงงานพม่าอีกจำนวนมากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของนางสาว A และยังเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวพม่าด้วยกันเองที่โรงงาน รวมถึงเป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างไทยและ แรงงานพม่า เช่น การประท้วง เป็นต้น จึงไม่แปลกที่นายอ่างจะได้รับการยอมรับและความเคารพจากชาวพม่าด้วยกันเป็นอย่างมาก
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน กว่าที่นางสาว A จะได้แรงงานพม่ามาแต่ละคน เธอจำเป็นต้องอาศัยนายหน้าชาวพม่า (Agent) เป็นหลัก ตั้งแต่การสรรหา รวบรวมกลุ่มคนพม่าที่อยากมาทำงานที่ไทย เตรียมเอกสาร จัดแจงเรื่องการนำแรงงานข้ามแดน ฯลฯ
และด้วยบทบาทที่มากมายเหล่านี้ทำให้นายหน้าในสมัยก่อนมีอำนาจต่อรองสูง สามารถเล่นเกมส์ได้ตามใจตนเอง ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเจ็บตัว เพราะยิ่งได้จำนวนมากยิ่งได้ผลตอบแทนต่อหัวมาก ทำให้นายหน้าทำทุกอย่างเพื่อให้ได้แรงงานมา เช่น โฆษณาเกินจริง โดยจะใช้เทคนิคการแอบอ้างกับชาวพม่าว่าจะได้ไปทำงานใกล้ๆ กับญาติหรือเพื่อนๆในไทย ชาวพม่าก็หลงเชื่อจึงติดตามนายหน้าเข้ามาในเมืองไทย ปรากฎว่าหลังจากได้ส่งมอบแรงงานในกับผู้ประกอบการแล้ว นายหน้าก็จะไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย จึงเกิดปัญหาตามมาคือ แรงงานหนีกลับประเทศตัวเอง
ปัญหาข้างต้นทำให้นางสาว A และครอบครัว เปลี่ยนวิธีการสรรหาแรงงานพม่าใหม่ตั้งแต่ต้น โดยการไปลงพื้นที่ด้วยตัวเองที่พะโคและมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นายอ่างคุ้นเคย เมื่อถึงพื้นที่ดังกล่าวเธอก็ทำการประชาสัมพันธ์ด้วยการเล่าเรื่องด้วยภาพ ภาพเหล่านั้นคือภาพของสถานที่ทำงานและบ้านพักจริงๆ ที่แรงงานจะได้ทำและอาศัยเมื่อผ่านกระบวนการสรรหาทั้งหมดแล้ว
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น นายอ่างและทีมของเธอจะมีการสัมภาษณ์แรงงานรายบุคคลถึงรายละเอียดของครอบครัวแรงงานเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการจัดการในอนาคต กรณีที่แรงงานพม่าต้องการจะพาลูกเมียของตนไปยังประเทศไทยด้วย หลังจากนั้นเป็นเรื่องการเตรียมเอกสารต่างๆ การติดต่อกับสถานฑูตพม่าเพื่อขอโควต้าจำนวนแรงงาน การพาแรงงานข้ามด่านตรวจบริเวณชายแดน ฯลฯ จนกระทั่งได้ทำงานที่โรงงานของเธอ ทุกๆ กระบวนการย่อมมีค่าใช้จ่ายซึ่งถือเป็นการลงทุนที่เธอพร้อมจะจ่าย
จากประสบการณ์ของเธอที่ได้สัมผัสกับชาวพม่าอย่างใกล้ชิดนั้น ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่าชาวพม่าที่เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทยนั้นมีความตั้งใจในการทำงานสูงมาก สูงกว่าตัวคนไทยเองเสียด้วยซ้ำ เพราะชาวพม่าเหล่านี้หวังจะสะสมทรัพย์สินเป็นของตัวเอง เช่น เงินสด ทองคำ ฯลฯ ใช้จ่ายในอนาคต
และเนื่องด้วยวัฒนธรรมพม่าที่กินอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัว ทำให้แรงงานพม่าที่เข้ามา มักจะมากันในลักษณะของครอบครัว (พ่อ แม่ ลูก) ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเธออีกเช่นกันที่จะต้องคำนึงในข้อนี้ แต่ข้อดีในเรื่องนี้คือ “หากครอบครัวพม่าครอบครัวนั้นได้รับการดูแลจากเรา ทายาทหรือญาติของเขาในหมู่บ้านนั้นๆ ก็จะอยากเข้ามาทำงานให้เราโดยไม่จำเป็นต้องสรรหา” เธอกล่าวเสริม
ปัจจุบันโรงงานของเธอมีแรงงานชาวพม่ามากกว่า 2,000 คน (ขนาดเทียบเท่ากับตำบลเล็กๆ 1 ตำบล) มีบ้านพักและสถานพยาบาลภายในโรงงานเพื่ออำนวยความสะดวก มีศูนย์รับเลี้ยงดูเด็กเล็กขณะที่พ่อแม่ไปทำงาน จัดสรรพื้นส่วนกลางเพื่อกิจกรรมสันทนาการในยามว่าง รวมถึงสวัสดิการสุขภาพและการช่วยเหลือด้านเอกสาร เช่นการต่อ Visa / MOU เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เธอให้ความสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการแรงงานพม่าหรือแรงงานชาติอื่นๆ ก็ตาม นั้นคือการดูแลแรงงานเหล่านั้นดังเขาเป็นครอบครัวของเราเอง “หากเราให้ใจเขา เขาก็จะให้ใจเรา ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนก็ตาม” เธอกล่าวทิ้งท้าย
ฝากติดตาม blog อื่นๆใน Happioteam ด้วยครับ
blog.happioteam.com